ห้ามคุณพ่อเข้าห้องคลอด ข้อห้ามในโรงพยาบาลต่างๆ ที่ควรยกเลิกได้แล้ว

9982
แบ่งปัน

ห้ามคุณพ่อเข้าห้องคลอด ระเบียบข้อนี้ของ รพ.รัฐบาล ทุกแห่ง ในประเทศไทย สำหรับผม มันเป็นเรื่องที่แย่มากๆ และผมรู้สึกว่า มันน่าจะล้าหลังจากต่างประเทศมากพอสมควรนะครับ การที่ทาง โรงพยาบาล มองเรื่องของการคลอด เป็นเรื่องของ คุณแม่ เพียงคนเดียว หรือ มองว่า การที่ให้คุณพ่อ เข้าไปให้กำลังใจด้วย เป็นเรื่องที่ยุ่งยากบ้าง เกะกะ เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพราะคุณพ่ออาจเป็นลมหมดสติบ้าง หรือสถานที่ ภายในห้องคลอด ไม่เอื้ออำนวยบ้าง หรือถ้าอนุญาตให้เข้า อาจจะเป็นมิจฉาชีพ มาขโมยเด็กไปบ้าง เรื่องพวกนี้ ผมว่า มันเป็น “ข้ออ้าง” ที่ไม่น่าจะใช้ได้กับทุกคนสักเท่าไหร่ อันที่จริงแล้ว ระเบียบที่ถูกต้อง ควรจะมีประมาณว่า “จะให้คุณพ่อ เข้าห้องคลอดด้วยหรือไม่ ก็ให้เป็นสิทธิของคุณแม่ ที่จะคลอด เป็นผู้มีสิทธิ์เลือก” เพราะถ้าคุณแม่ ต้องการกำลังใจ ก็ควรให้คุณพ่อเข้าไปด้วย แต่.. ก็มีเงื่อนไขว่า คุณพ่อ ต้องผ่านการอบรม ( หรือจริงๆ ก็คือ การทดสอบ ) ด้วยการอบรมให้ความรู้ และดูคลิปวีดีโอการคลอด ให้เห็นเลือด เห็นภาพจริงๆ ก่อน ว่าในห้องคลอด ต้องเจอกับอะไร เห็นอะไรบ้าง เพื่อดูว่า คุณพ่อ รับไหวมั้ย จะเป็นลมทุกรอบที่เห็นมั้ย ถ้าคุณพ่อ เป็นลมล้มพับหลายๆ รอบแบบนั้น ก็ไม่ต้องห้ามหรอกครับ ทั้งคุณแม่ และคุณพ่อเอง ก็คงจะรู้ถึงขีดจำกัดของตัวเอง และไม่คิดจะเข้าไปในห้องคลอดด้วยอยู่แล้วครับ เงื่อนไขแค่นี้ก็เพียงพอที่จะควบคุมแล้วครับ ส่วนเรื่องสถานที่ ถ้าต้องใช้ห้องคลอดเดี่ยว ซึ่ง รพ.รัฐ ใหญ่ๆ มีอยู่แล้ว ก็คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มไปสิครับ แต่ถ้าเป็น รพ.เล็กๆ ตามอำเภอ ก็อาจจะเพิ่มเงื่อนไขขึ้นมาอีกว่า อนุญาตให้ได้ เฉพาะกรณีที่่ ไม่มีการคลอดร่วมกัน 3 คน  คือ จะได้ไม่วุ่นวาย อันนั้น ใครๆ ก็ต้องเข้าใจอยู่แล้ว จริงมั้ยครับ

ห้ามคุณพ่อเข้าห้องคลอด

คนเราทุกคน ในสมัยนี้ กว่าจะมีลูกได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นะครับ และด้วยเทคโนโลยี และการศึกษา ที่ทำให้คนรู้มากขึ้น ฉลาดขึ้น ผมว่า คนไทยเรา มีการศึกษาพอ ที่จะเข้าใจเรื่องพวกนี้แล้วนะครับ การมาห้ามโดยใช้เหตุผลแบบที่เรามักจะได้ยินกัน เกะกะบ้าง ติดเชื้อบ้าง ผมว่า มันไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่นะครับ หากพิจารณาให้ดี จะเข้าใจถึงความรู้สึก ของคนเป็นแม่ ที่กำลังคลอด ด้วยความหวาดกลัว และต้องการกำลังใจ กับคนเป็นพ่อ ที่รออยู่นอกห้องคลอด ด้วยจิตใจที่เป็นห่วง กระวนกระวาย ผมว่า มันเป็นเรื่องที่แย่นะครับ ใครไม่เคยมีลูก ไม่รู้หรอกครับ ว่าการรอคอยอยู่หน้าห้องคลอด ตั้งแต่ตอนที่ภรรยาเริ่มเจ็บท้อง จนปากมดลูกเปิด มันกินเวลาหลาย ชม. มากๆ มันเครียด กังวล และทรมานใจแค่ไหน ยากที่จะบรรยายครับ และถึงแม้จะยังไม่คลอด แต่คุณพ่อจะเข้าไปหา ไปพูดคุย ก็ทำได้จำกัด เหมือนเยี่ยมนักโทษในคุกก็ไม่ปาน จนผมสงสัยว่า “เฮ้ย นี่ผมพาเมียมาคลอดลูกนะ ไม่ได้พามาติดคุก”

ทำไมถึง ห้ามคุณพ่อเข้าห้องคลอด มีเหตุผลอะไร?

ส่วนใหญ่แล้ว เหตุผลหลักๆ ที่ทาง รพ.รัฐบาล ในประเทศไทย นำมาอ้าง ไม่ให้ คุณพ่อ เข้าไปให้กำลังใจ คุณแม่ ในห้องคลอดนั้น ก็มีอยู่ 2 ประเด็น คือ เรื่องของสถานที่ และ เรื่องของ สภาพจิตใจของคุณพ่อ

เรื่องของสถานที่ ก็ถ้าเป็น โรงพยาบาลรัฐบาล ขนาดเล็ก มีห้องคลอด เป็นห้องใหญ่ห้องเดียว แล้วมีหลายเตียง มีม่านกั้น อันนี้ ก็พอจะเข้าใจได้ครับ ว่าไม่ควรให้คุณพ่อเข้าไป แต่ก็ไม่ควรห้ามจนน่าเกลียด ที่มักจะนำมาอ้างกันก็คือ “ถ้าสมมติ มีการคลอดพร้อมกัน 2 – 3 คน หรือเป็น 10 คน พร้อมๆ กัน คุณพ่อ ไม่เข้าไปอยู่เต็มห้อง เหมือนกับตลาดนัดอย่างนั้นหรือ?” อันนี้ผมก็เข้าใจได้ครับ แต่ถามว่า พอถึงเวลาจริงๆ มันจะมีแบบนั้นเหรอ แล้วถ้าในช่วงเวลานั้นมี คุณแม่ มาคลอดคนเดียวล่ะ ไม่ได้มีคุณแม่ที่ใกล้คลอดคนอื่นมาคลอดเลย มีอยู่คนเดียวในห้องคลอด ถามว่า ทาง รพ.จะให้คุณพ่อ เข้าไปให้กำลังใจด้วย ได้มั้ย? ไม่ได้เข้าแน่นอน เพราะระเบียบ เค้ากำหนดเอาไว้แล้วว่า ห้ามเข้า

คุณแม่ต้องรู้  อายุครรภ์ 2 สัปดาห์ ควรดูแลตัวเองและ ทารกในครรภ์ อย่างไร

เรื่องของสภาพจิตใจ ของคุณพ่อ อันนี้ก็พอจะเข้าใจกันได้นะครับ ว่าพ่อบางคน ก็เห็นเลือดไม่ได้ครับ อาจจะเป็นลม สลบไป ก็มีเยอะ ซึ่งนั่น ก็เกิดจาก การเจอกับสิ่งที่ไม่ได้เตรียมตัว ดังนั้น ทางโรงพยาบาล ก็ต้องมีการจัดคอร์สอบรมขึ้นมาสิครับ เก็บตังค์ได้เลย ให้กับทั้ง พ่อ และ แม่ ที่ใกล้จะคลอดแล้ว พร้อมๆ กันไปเลย ให้ดูวีดีโอบ้าง ให้เห็นบ้าง ว่าต้องเจอกับเลือด และอะไรบ้างในห้องคลอด เห็นในวีดีโอแล้วเป็นอย่างไร จะอ้วก หรือจะเป็นลมมั้ย ถ้าไม่ ก็ถือว่าผ่าน สามารถเข้าไปได้ ของแบบนี้ มันฝึกฝนกันได้ครับ หมอ กับพยาบาล ก็เหมือนกัน ใช่ว่าเกิดมาปุ๊บ ก็เอามีดผ่าตัวคนได้เลย เห็นเลือดแล้วเฉยๆ ซะที่ไหน ก็ต้องฝึกฝนกันมาทั้งนั้นแหละ แต่ถามว่า รพ.รัฐ ทุกแห่ง ได้มีการจัดอบรม แบบนี้ เพื่อเป็นทางออกให้คุณพ่อ ที่ต้องการเข้าไปให้กำลังใจคุณแม่ในห้องคลอดมั้ย? คำตอบคือ ไม่มีครับ ซึ่งก็นำไปสู่คำถามต่อไปที่ว่า ทำไมถึงไม่มี?

ปรับแก้ระเบียบที่ว่า ห้ามคุณพ่อเข้าห้องคลอด เสียทีเถอะครับ

ผมเองก็เป็นคนหนึ่ง ที่ไม่ได้มีรายได้สูงอะไร ก็เป็นคนธรรมดา ที่มีรายได้พอประมาณ แต่ก็ไม่ได้มีเงินมากพอ ที่จะไปเสียให้กับ รพ.เอกชน อย่างแน่นอน อีกทั้งผมยังเป็นข้าราชการ ที่สามารถเบิกได้อีกด้วย แล้วจะไป รพ.เอกชน ทำไม แต่ที่ผมรู้สึกไม่เข้าใจเลยก็คือ โรงพยาบาล ในต่างประเทศ เค้าอนุญาต ให้คุณพ่อ สามารถเข้าไปให้กำลังใจ คุณแม่ ที่กำลังเบ่งคลอด ตามธรรมชาติได้ เพราะช่วงเวลานั้น เป็นช่วงเวลาที่ คุณแม่ ต้องการกำลังใจมากที่สุด ส่วนคุณพ่อเอง ก็กังวลใจ ในเรื่องของความปลอดภัย เป็นห่วงทั้งแม่ และลูก ทางต่างประเทศเห็นความสำคัญ ในความรู้สึกของคนเป็นพ่อ และแม่ จึงอนุญาติให้คุณพ่อ เข้าไปให้กำลังใจกับคุณแม่ได้ แต่ทำไม รพ.รัฐบาล ใหญ่ๆ ของไทย ซึ่งมีมาตรฐานสูงมากๆ คือ ดีกว่า รพ.เอกชนอีก ( บางอย่าง รพ.เอกชน รักษาไม่ได้ ต้องมาที่ รพ.รัฐบาล อย่างเดียว ก็มีเยอะแยะไป ) ทำไมจึงไม่อนุญาตบ้าง ผมว่า การทำเป็นระเบียบข้อห้าม แบบไม่มีข้อยกเว้น มันจะออกแนว ประมาณว่า

รพ.รัฐ ไม่อนุญาตให้ คุณพ่อ เข้าไปในห้องคลอด เพื่อให้กำลังใจคุณแม่ได้ ถ้าอยากจะเข้าไปให้กำลังใจได้ ก็ไปคลอดเอกชนที่แพงๆ นู่น !

ในต่างประเทศ อาจจะเป็นเพราะว่า เป็น รพ.เอกชน คุณพ่อ ก็มีสิทธิที่จะเข้าไปดูแล และให้กำลังใจคุณแม่นะครับ แต่ที่เมืองไทย การออกกฏระเบียบแบบนี้ ก็หมายถึง ถ้ารวย ก็มีสิทธิเข้าไปให้กำลังใจคุณแม่ได้ ( รพ.เอกชน ) แต่ถ้าจน ไม่มีตังค์ ก็รอนอกห้องไปนะ ( รพ.รัฐ ) แบบนี้ ผมเข้าใจถูกใช่มั้ยครับ

คุณแม่ต้องรู้  วิธีการเลือกเพศลูก ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งแพทย์

ผมขออ้างถึง เฟสบุ๊คของคุณหมอ นพอานนท์  เรืองอุตมานันท์ ที่กล่าวว่า

พอถึงตอนคลอดมันเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่ต้องเจอะเจอกับอะไรต่ออะไรมากมาย ตอนแรกมันก็รู้สึกตื่นเต้น พอเริ่มเจ็บท้องถี่ขึ้นความเจ็บปวดทำให้หายตื่นเต้นไปเลย  ช่วงเวลานี้การที่ต้องนอนเจ็บปวดอยู่คนเดียว  พยาบาลที่คอยดูแลอยู่ก็เพิ่งเจอกันเมื่อตะกี้เอง จะร้องก็เกรงใจเขา  มองไปมองมาก็ไม่มีใครที่เราสนิทที่จะคอยดูแลให้กำลังใจเลย  ตอนนี้แหละก็จะคิดถึงคุณสามีขึ้นมาทันที  รับรองว่าคิดถึงมากกว่าตอนที่จีบกันใหม่ๆเสียอีก  สามีตัวดีนี่แหละที่เป็นคนที่คุณแม่ต้องการตัวที่สุด ยามเจ็บยามป่วยยามไข้ใครๆก็ต้องคิดถึงสามีไว้ก่อน คงไม่ไปนึกถึงหนุ่มข้างบ้านเป็นแน่  ถ้าคุณสามีมาอยู่ด้วยก็คงมีคนคอยดูแลให้กำลังใจ คอยเช็ดหน้าเช็ดตาให้ยามเหนื่อย คอยเชียร์เบ่งเมื่อยามคลอด  แม้จะเหนื่อยเมื่อยล้า สามีอุตส่าห์มาเชียร์ก็คงต้องโชว์ฝีมือกันหน่อย

คุณหมอ ยังยืนยันเลยว่า การคลอดลูก มันไม่ใช่เรื่องของคุณแม่คนเดียวอีกต่อไปแล้ว อ่านที่คุณหมอเขียนเต็มๆ ได้ที่ https://www.facebook.com/notes/นพอานนท์-เรืองอุตมานันท์/คุณพ่อในห้องคลอด/479698795436144/

คุณพ่อในห้องคลอด

ผมว่า ระเบียบ มันน่าจะยืดหยุ่นกันได้บ้างนะครับ ก็อย่างที่ผมบอกไปแล้ว ถ้าทาง รพ. กลัวว่า คุณพ่อ จะเข้าไปเกะกะ เป็นลม ก็ฝึกอบรม ทดสอบดูสิครับ เปิดวีดีโอ ที่ทำการคลอดให้ดูเลย ว่าเห็นเลือดแล้ว จะเป็นลมมั้ย อย่าว่าแต่คุณพ่อมือใหม่เลยครับ ไม่ว่าใครที่ใจแข็งๆ แล้วเข้าไปดูการทำคลอดเป็นครั้งแรก แล้วเป็นลมก็มีเหมือนกัน คนเราจะทำอาชีพไหน มันก็คนเหมือนกันทั้งนั้น มีโอกาสเป็นลมเหมือนกันทุกคน ถ้าไม่ได้ถูกฝึกมา จริงมั้ยครับ หรือถ้าบอกว่า มันเป็นห้องรวม ก็เอาสิครับ จัดห้องแยกไว้เลย รพ.รัฐ ใหญ่ๆ อย่าง จุฬา มีอยู่แล้ว ก็คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มไปสิครับ ผมยอมจ่าย ใช่ครับ ทุกท่านอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อาจจะเห็นว่า ผมจริงจังมากเกินไปหรือเปล่า เหมือนมีอะไรฝังใจ ซึ่งก็ใช่ครับ เป็นประสบการณ์ตรงที่ผมได้เจอมา คือ มันมีที่มาที่ไปแบบนี้ครับ

ทารกแรกเกิด คุณพ่อ ห้องคลอด

แม่น้องเนปจูนนั้น ฝากคลอดที่ รพ.จุฬา และคลอดที่ รพ.จุฬา ซึ่งนั่นเป็นท้องแรกครับ อ่อนประสบการณ์กันทั้งคู่ ทั้งพ่อ และแม่ ก็รู้อยู่แล้ว ว่าเค้า ห้ามคุณพ่อเข้าห้องคลอด แต่ที่ผมไม่รู้ก็คือ ไม่นึกว่า มันจะแย่ขนาดนี้ คือนึกว่า แค่ตอนคลอด ตอนที่ยังไม่คลอด จะได้อยู่ด้วยกัน คอยให้กำลังใจกัน แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่ แม่น้องเนปจูน เจ็บท้องคลอดนานมากๆ ในระหว่างที่รอให้ช่องคลอดเปิดกว้างพอที่จะคลอดนั้น พยาบาล ให้แม่เนปจูน ไปนอนรอ ให้ห้องรอคลอดคนเดียว แอร์ก็เย็น ลองคิดถึงสภาพจิตใจของเธอดูสิครับ ผมอยากจะเข้าไปหา ไปอยู่ด้วย ไปพูดให้กำลังใจ ก็ทำไม่ได้ จะเยี่ยมที ก็ต้องไปบอกไปขอ เหมือนกับไปเยี่ยมนักโทษ ผมยังจำได้ดีไม่เคยลืมครับ จำได้ว่า ตอนหัวค่ำ มีคนมาคลอด ก่อนหน้าที่ แม่น้องเนปจูน จะเข้าไปคลอด ได้ยินเสียงพยาบาลมากมาย ช่วยกันเบ่ง ส่งเสียงเชียร์กันลั่น ออกมาถึงข้างนอก ผมก็อุ่นใจว่า ที่นี่ พยาบาลทำคลอด เค้าดีนะ แต่พอถึงคราวของ แม่น้องเนปจูน ซึ่งต้องคลอดตอนประมาณ 5 ทุ่มกว่า พยาบาลใจร้ายมากครับ ดุ ไม่ให้ภรรยาของผมส่งเสียงร้อง เค้าบอกว่า ให้เบาๆ เพราะมันดึกแล้ว ผมมารู้เรื่องนี้ ตอนที่ภรรยาผมคลอดแล้ว ตอนที่นอนพักฟื้น ก็เล่าให้ผมฟัง บอกตามตรง ว่าผมโกรธแบบสุดๆ และโมโหมากๆ ทำไมนางพยาบาลของ รพ.รัฐบาล ขนาดใหญ่ ที่มีชื่อเสียง ถึงทำกันแบบนี้ ต่างกับกลุ่มพยาบาล ที่อยู่เวรก่อนหน้านี้ คนละเรื่องเลย เห็นส่งเสียงกันลั่น ให้กำลังใจคนคลอดเป็นอย่างดี

ผมเอามาเล่าเป็นประสบการณ์ เพราะไม่อยากให้ใคร พาภรรยาไปคลอด แล้วบังเอิญปากมดลูก ยังไม่เปิด จนบังเอิญ เวลาล่วงเลยไป จนต้องไปคลอดตอนดึกๆ แล้วเจอประสบการณ์เหมือนกับ แม่น้องเนปจูนเข้า มันทรมานมากนะครับ ที่ต้องเบ่ง เจ็บปวด และไม่สามารถส่งเสียงร้องได้ ก็ต้องบอกกันตามตรงครับ ว่าผมเสียความรู้สึกกับ รพ.จุฬา มากๆ พอคลอดน้องเนปจูน มาแล้ว ผมก็ไม่เคยพาคนในครอบครัว ไปหาหมอที่ รพ.จุฬา อีกเลยครับ และนั่นเป็นที่มา ที่ผมพา น้องเนปจูน ไปเข้า รพ.เอกชน มาตลอด จนตอนนี้ 2 ขวบ แล้วครับ เพื่อให้เจอพยาบาลดีๆ ยอมเสียเงินมากหน่อย แต่สบายใจกว่าครับ

คุณแม่ต้องรู้  ก่อนจะวางแผน ตั้งครรภ์ ต้องเตรียมทำอะไรบ้าง ตอนที่ 2

เด็กแรกเกิด ห้องคลอด คุณพ่อ

คนที่ไม่เคยเป็นพ่อคน คนที่ไม่เคยเป็นแม่คน ไม่เคยคลอดลูก ไม่เคยอยู่นอกห้องคลอด คุณไม่มีวันรู้หรอกครับ ว่าความรู้สึกของคนเป็นพ่อ ที่ห่วง ทั้งแม่ และลูก ว่าจะปลอดภัยมั้ย มันทรมานใจแค่ไหน และถ้าคุณเป็นว่าที่คุณแม่ ที่ไม่เคยไปคลอดที่ รพ.รัฐ มาก่อน แบบประมาณว่า คลอดลูกคนแรก ไม่รู้ว่าต้องทำอะไร กลัว ประหม่า และไม่มั่นใจ คุณจะไม่รู้เลยว่า มันจะรู้สึกอ้างว้าง และเดียวดายแค่ไหน ที่ต้องอยู่คนเดียว และถ้าเจอ “พยาบาลแบบนี้” แบบที่ แม่น้องเนปจูนเจอ มันจะเป็นประสบการณ์ที่เรียกได้ว่า “นรก” ชัดๆ เลยครับ

ผมว่า นี่มันเป็นปัญหาในเรื่องของ Regulation หรือระเบียบต่างๆ ของแต่ละโรงพยาบาล ที่มีไม่เหมือนกัน กับเรื่องของการ ให้คุณพ่อ เข้าไปในห้องคลอด เพื่อให้กำลังใจคุณแม่ ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็ให้ไปอยู่แต่ตรงหัวเตียงก็ได้ ไม่ต้องมาดูช่องคลอด หรือถ่ายวีดีโอด้วยหรอก มันน่าจะผ่อนผันกันได้ไม่ยากนะครับ ทีเวลาผ่าตัดมือ หรือผ่าตัดอะไรก็ตาม ตอนนั้นผมยังจำได้เลย ว่าคุณหมอ ที่ผ่ามือให้ผม เค้าก็ให้นักศึกษาแพทย์มาดูกันเต็มห้อง แถมผ่าไป อาจารย์หมอ ก็สอนไป เหมือนเราเป็นหนูทดลอง ผมยังไม่ว่าอะไรเลย ได้แต่คิดในใจว่า “เอ่อ คือ ผมไม่ใช่หนังสือ ให้มาเปิดอ่านกันนะครับ รีบทำให้มันเสร็จๆ ไปจะได้มั้ย ไม่ต้องอธิบายเยอะ เดี๋ยวยาชามันก็หมดฤทธิ์หรอก แล้วจะผ่าตัดเนี่ย เอาเคสผมมาสอนแบบนี้ ถามผมบ้างยัง ว่ายินยอมหรือเปล่า?”

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวเท่านั้นนะครับ และเป็นเรื่องที่ผมเอง ได้ประสบพบเจอมากับตัวโดยตรง ซึ่งรู้สึกว่า ไม่ประทับใจอย่างยิ่ง ตอนนั้น แม่น้องเนปจูน ก็คลอดห้องคลอดเดี่ยวนะครับ ไม่ใช่ห้องคลอดรวม แถมยังดึกมากๆ เกือบเที่ยงคืนอีก ไม่มีคนอื่น มาคลอดด้วยเลย แต่ผมก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าไป แม้จะในห้องรอคลอด ก็ยังทำไม่ได้ ได้แต่นั่งรออยู่ที่หน้าลิฟต์ ซึ่งแน่นอนครับ สำหรับลูกคนต่อไปของผม ต้องไม่เป็นแบบนี้อีกแล้วครับ ก็ต้องดูกันต่อไป ว่าจะเป็นยังไง และที่ รพ.ไหนต่อครับ

ผมว่า โรงพยาบาลต่างๆ ในไทย น่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้บ้างนะครับ และโดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่า ทาง รพ.ต่างๆ ไม่ว่าจะรัฐ หรือเอกชน ควรจะยกเลิกข้อห้าม และพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป แทนนะครับ เช่น ห้องคลอดเป็นแบบรวม แต่ถ้าตอนนั้น ตี 1 ไม่มีคนอื่นมาคลอดเลยล่ะ จะอนุญาตให้สามีเข้าไปให้กำลังใจได้มั้ย? ก็ขอให้พิจารณาเป็นกรณีๆ ไปนะครับ ผมอยากให้ ทาง รพ. มองถึงความสำคัญในเรื่องของจิตใจ และกำลังใจของคนเป็นแม่บ้างนะครับ รวมทั้งเป็นการแสดงออก ถึงการทำงานที่โปร่งใสด้วย เป็นการเปิดให้สามี สามารถตรวจสอบการทำงานของแพทย์ และพยาบาลได้ด้วย เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เช่น ใช้ที่หนีบหัวเด็ก แรงเกินไป จนหัวยุบ หรืออะไรประมาณนี้ ถ้าสามีอยู่ด้วย หมออาจจะถามก่อนว่า สามียินยอมไหม อาจต้องบีบแรงหน่อยนะ แล้วถ้าไม่ว่าอะไร ก็เป็นเรื่องดีกับแพทย์ผู้ทำคลอดจริงมั้ยครับ เพราะถือว่า ยอมรับ และเข้าใจ ถึงความจำเป็นดีอยู่แล้ว และยินยอมให้ทำ ดีกว่าให้มาเกิดเป็นคดี ฟ้องร้องกันถึงศาล และกระทบกระเทือน ถึงแพทยสภา แบบนี้น่าจะดีกว่า เพราะมันเป็นการเปิดเผย ให้เห็นถึงการทำงานอย่างโปร่งใสทุกขั้นตอนนะครับ อย่ามองเพียงแต่ด้านลบ เพราะการให้สามีเข้าไปในห้องคลอดด้วย มันมีผลดี มากกว่าผลเสียเยอะครับ